วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

Review: Parfum Satori - Mizunara

Parfum Satori - Mizunara

สิ่งหนึ่งที่มักจะได้รับมาเสมอในการสัมผัสกลิ่นอายน้ำหอมจากแบรนด์ Parfum Satori นั่นคือ ความประณีตในการสร้างสรรค์กลิ่นอายสไตล์ญี่ปุ่นที่ดูเผินๆ เหมือนจะเรียบง่าย แต่มีความซับซ้อนและสามารถจำลองภาพเสมือนจริงเสมือนเราไปอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ หรือสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ที่แฝงจิตวิญญาณแบบญี่ปุ่นแท้ๆ ลงลึกถึงแก่นให้เราจับต้องได้อยู่เสมอ ซึ่งไม่ว่าจะผ่านกลิ่นไหนมาก็ไม่หลุด Concept เลยแม้แต่นิดเดียว

และกลิ่นล่าสุดที่ได้จับต้องและเรียนรู้อย่าง Mizunara นี้ก็เช่นกัน เพราะแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กลิ่น คือ ท่ามกลางต้นโอ๊คญี่ปุ่นและต้นบีชที่รายล้อยกระจายไปทั่วริมทะเลสาบในป่าลึก ซึ่งแน่นอนเรื่องของต้นโอ๊คญี่ปุ่นกับต้นบีชเนี่ย เป็นหนึ่งในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของญี่ปุ่นที่มีความนิ่งสงบและงดงามมาก ซึ่งนี่แหละทำให้สิ่งแรกก่อนที่จะเจอกับกลิ่นจริงๆ ต้องคิดตามและทดในใจไว้ก่อนว่ากลิ่นนี้จะทำให้เราเสมือนยืนอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมตามที่มาของกลิ่นได้หรือไม่ แล้วค่อยมาว่ากันเมื่อถึงปลายทางของกลิ่นอีกที

แรกสเปรย์เมื่อฉีดออกมานั่นคือกลิ่นอายติดเขียวคมหน่อยๆ แต่ไม่ได้พุ่งจัดจ้าน แอบมีกลิ่นโทนแกมลูกพรุนเล็กๆ ซึ่งเป็นลักษณะของยางไม้สายเปรี้ยวเขียวพุ่งอย่าง Galbanum จะมาให้สัมผัสได้ก่อนโดยมีกลิ่นอายสดชื่นติดบรรยากาศอย่างโทนแนว Citrus แฝงอยู่เนียนๆ คล้ายดอกส้มแกมกลิ่นคล้ายๆ โทน Aquatic ที่เป็นโทนน้ำแทรกซึมประปรายให้จับต้องได้ก่อนในวูบแรก ก่อนที่จะตามติดต้วยโทนออกทางคล้ายสมุนไพรที่มีความปร่าเจือเขียวมินต์เล็กๆ เฉพาะตัวของโรสแมรี่และกลิ่นที่ค่อนไปทางลาเวนเดอร์ติดเขียวสมุนไพรหน่อยๆ (แบบที่ไม่ใช่ลาเวนเดอร์แบบนวลสะอาด กลิ่นค่อนเป็นทางต้นลาเวนเดอร์ที่มีโทนเขียวสมุนไพรมากกว่าดอก) อารมณ์แนวๆ กลิ่นอายคล้ายใบไม้และกิ่งไม้แกมสมุนไพรล้มลุกที่พื้นดินเสียมากกว่า ซึ่งไม่พอยังมีโทนกลิ่นไม้โอ๊คออกทางติดเปียกๆ กึ่งกลิ่นไม้สนที่ติดออกทางเปียกชื้นๆ จะเข้ามาผสมผสานด้วย ซึ่งเพียงแค่นี้ต้องบอกเลยว่าเลเยอร์กลิ่นมีความซับซ้อนมาก เพราะจะจับได้อารมณ์แบบเราอยู่ในจุดที่มีกลิ่นอายเขียวๆ เจือกลิ่นออกทางเนื้อไม้ที่มีกลิ่นเขียวตุ่นแกมเปรี้ยวสดชื่นเล็กๆ ตามธรรมชาติ และล้อมกรอบด้วยสมุนไพรเคล้ากลิ่นแหล่งน้ำลอยตามลม ซึ่งแค่ช่วงนี้ก็เรียกว่า สร้างภาพในหัวได้เลยเสมือนเรายืนรับลมที่มีกลิ่นแอ่งน้ำ กลิ่นใบไม้ กิ่งไม้ ต้นไม้แก่นไม้ สมุนไพรและอากาศดีๆ ตามธรรมชาติที่ฟุ้งมาให้จับต้อง เรียกว่าเปิดมาก็ชัดเจนจับต้องได้หมดเลยสร้างภาพในหัวชัดเจนมากแบบอารมณ์ยืนท่ามกลางต้นโอ๊คและต้นบีชริมน้ำรอบกายเป็นเขตป่าธรรมชาติที่เป็นเอกลักษณ์แบบญี่ปุ่น

เมื่อโทนช่วงกลางการเปลี่ยนแปลงเริ่มให้จับต้องได้เพราะกลิ่นไม้โอ๊ตติดชื้นๆ จะมีโทนออกทางเหล้าคอนยัคเสริมอยู่ในเนื้อกลิ่น ที่มีความหอมเฉพาะตัวแต่ไม่ได้ถึงกับเป็นถังไม้บ่มเหล้าขนาดนั้น อารมณ์กลิ่นออกทางเนื้อไม้โอ๊คธรรมชาติแต่เอาความเป็นคอนยัคมาเสริมให้กลิ่นมีลูกเล่นเย้าๆ เนียนๆ เสียมากกว่า และแน่นอนว่ากลิ่นใบบีชติดเขียวยังมีประปรายให้จับต้องได้อยู่ด้วย แต่สิ่งที่เสริมขึ้นมาแบบกำลังดีคือกลิ่นออกทางเขียวปร่ากึ่งจะค่อนไปเหล้าจินของจูนิเปอร์ก็เพราะมีความเขียวชื้นๆ อารมณ์แบบกลิ่นไม้สนเข้ามาร่วมด้วย เลยได้ความเป็นธรรมชาติแบบกลิ่นปร่าเขียวลอยมาเจือปนกับกลิ่นไม้โอ๊คแทน แถมมีกลิ่นพิมเสนที่ปร่าอ่อนๆ ไม่ได้ดิบเกินไปจนกลายเป็นสาบพิมเสนเขียวเฝื่อน และไม่ได้แห้งจนกลายเป็นยาจีน แต่ให้อารมณ์ปร่าเขียวเบาๆ คลอเคลียอยู่ในกลิ่นด้วย โดยที่เนื้อกลิ่นภาพรวมจะแห้งขึ้นอีก 1 สเต็ปจากช่วงต้นแต่ไม่ได้แห้งผาดแบบโทนแห้งแล้งแต่อย่างใด แต่มีความเป็นกลิ่นอายชื้นๆ ที่เป็นไอระเหยกลิ่นเนื้อไม้ กลิ่นปร่าบรรยากาศแบบที่เหมือนชินกลิ่นในช่วงต้นแล้วจมูกปรับสภาพได้แล้วราวๆ นั้น เลยทำให้ได้มิติที่ให้ความเป็นสภาพแวดล้อมที่ชัดเจนมากขึ้นกว่าเดิมอีก (แบบที่ไม่ได้อยู่แถวๆ แหล่งน้ำแล้วเพราะโทน Aquatic จางไปแล้วราวๆ นั้น)

เมื่อกลิ่นเริ่มลดทอนและเบาลงมาเรื่อยๆ จนเหลือเพียงกลิ่นออกทางไม้หอมอ่อนๆ มีความเป็นโทนติดจืดหอมปนสว่างนวลเล็กๆ ที่เป็นโทนของไม้จันทน์หอมแกมกลิ่นติดเขียวแห้งเบาๆ กึ่งปร่าบางๆ ของคาโมมายด์ที่ออกแนวโทนกลิ่นติดระเรื่อนิ่งสุภาพให้รู้สึกได้ ซึ่งเมื่อดมใกล้ผิวจะได้กลิ่นออกทางติดอบอุ่นลึกๆ เนียนๆ เบาๆ อารมณ์แบบค่อนไปทางผิวกายที่อบอุ่นอ่อนๆ มีโทนติดหวานนิดๆ ซึ่งน่าจะมาจากยางไม้บางประเภทที่มีโทนหวานผสมผสานเข้ามาอยู่ ก็เข้าสู่โทนกลิ่นในช่วงท้ายเต็มตัวที่เริ่มปรับเปลี่ยนจากช่วงกลางค่อนข้างชัดมากขึ้นมาเป็นโทนเรียบง่ายและเรียบหรูแทน เนื้อกลิ่นอารมณ์แบบมีกลิ่นไม้หอมกับสมุนไพรอ่อนๆ ติดผิวกายแนวๆ นั้น ซึ่งแน่นอนมีความมินิมัลและเป็นธรรมชาติแบบกลิ่นที่ไม่ได้ดูพยายามให้จัดจ้าน แต่ให้ความเรื่อยๆ มาเรียงๆ มีเสน่ห์แบบตามธรรมชาติที่ควรจะเป็นปิดท้ายการท่องป่าไม้โอ๊คและบีชกับ Mizunara กันไปเรื่อยๆ จนจางไปในที่สุด

เหมาะสำหรับ - กลิ่นลงไว้ว่า Unisex แต่จริงๆ ค่อนไปทางผู้ชายมากกว่านิดหน่อย เพราะโทนออกทางไม้หอมเด่นกว่า แต่ยังไงผู้หญิงก็ใส่ได้สบายมาก เพราะเนื้อกลิ่นมีความเป็นธรรมชาติอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งถ้าไม่มายด์กลิ่นไม้หอมแบบเนื้อไม้ชื้นๆ เด่นก็จัดได้เลย ไม่แน่มีเสน่ห์มากกว่าผู้ชายใช้ก็เป็นได้ ซึ่งกลิ่นนี้เข้ากับหลายๆ สถานการณ์ยามกลางวันไม่ว่าจะทางการหรือทั่วๆ ไป ซึ่งกวาดหมดได้อยู่ แต่ราคาสูงนะ เอาไปใช้กับออกกำลังกายก็จะเปลืองไปนิด แต่ยามค่ำคืนเน้นใส่ทั่วๆ ไปหรือออกงานจะดีกว่า เพราะกลิ่นไม่ได้เน้นปล่อยพลังอยู่แล้วเลยไม่เข้าทางการใช้เพื่อท่องราตรีแน่นอน

ความทน - อยู่ที่ราว 6 ชม. เป็นสำคัญ แต่ไปต่อได้อีกถ้าฉีดเสื้อที่สวมร่วมด้วยและได้ถึง 10 ชม. เลยก็ยังได้ ซึ่งเข้าใจได้ไม่ยากว่ากลิ่นมีความเป็นธรรมชาติสูง ความทนมันก็จะด้อยหน่อยประมาณนั้น

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีในเบื้องต้น แล้วจะค่อยๆ ลดลงมาปานกลางราวๆ 1 ชม. แล้วจะลงมาเป็นออร่ารอบๆ ตัวกันไปเรื่อยๆ พอพ้นซัก 5 ชม. แล้วก็จะเริ่มเป็น Skin Scent แล้วจางลงไปตามเวลา

สรุป - แน่นอนว่าจิตวิญญาณกลิ่นอายแบบญี่ปุ่นแบบถอดเอาความเป็นธรรมชาติมาแบบที่ได้กลิ่นใบบีช ต้นบีช ต้นโอ๊ค และต้นสน และสภาพแวดล้อมมาครบเลย แถมมีกลิ่นคอนยัคเนียนๆ สร้างความดึงดูดอีกด้วย กลิ่นเลยกลายเป็นลักษณะแบบ Japanese Forest View ที่ให้ความลงตัวและเสมือนจริง ต้องยกให้เขาเลยว่าแบรนด์นี้ถ่ายทอดความนิ่งและเสน่ห์แบบญี่ปุ่นได้มีชั้นเชิงและมีเสน่ห์มาก

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่ผมเขียนเพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://thescentofman.wordpress.com/2018/12/04/parfum-satori-mizunara-may-2018/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น