วันพุธที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2565

Review: Floraïku - This July Evening

Floraïku - This July Evening

จากความสำเร็จของ Memo Paris ที่ปล่อยน้ำหอมมาอย่างยาวนาน เจ้าของแบรนด์อย่าง Clara และ John Molloy จึงได้ต่อยอดสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น เพียงแต่ไม่ได้อยู่กับแบรนด์เดิม แต่เพิ่มเป็น Project ใหม่กับการสร้างแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเลยกับการหลงใหลในเสน่ห์ของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ประเพณี งานเฉลิมฉลองต่างๆ รวมถึงการแต่งกลอน Haiku จึงได้สร้างสรรค์กลิ่นออกมาและสร้างเป็นแบรนด์ใหม่ที่เรียกว่าไม่ธรรมดา ซึ่งนั่นก็คือ Floraïku

ในการสื่อความต่างๆ กับการสร้างสรรค์น้ำหอม สิ่งที่สำคัญมากของแบรนด์นี้คือ กลอน Haiku และการตั้งชื่อกลอนนั้นๆ หลังจากแต่งออกมาเสร็จ แน่นอนว่ากลอน Haiku เองขึ้นชื่ออยู่แล้วในเรื่องของความ “น้อยแต่มาก” เพราะกลอน 3 วรรคกับจำนวนคำที่ไม่เกิน 17 คำในการสื่อความ สามารถต่อยอดทางความลึกซึ้งในจินตนาการและเห็นภาพแจ่มชัดได้อย่างมากมาย ซึ่งนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์กลิ่น และต่อเนื่องมาถึงการตั้งชื่อกลิ่นที่ถอดเอาการตั้งชื่อกลอน Haiku นั้นๆ ภายหลังจากแต่งเสร็จมาทำให้จบครบถ้วนกระบวนความ พร้อมกับขวดที่มีลายภาพที่สื่อสารตรงไปตรงมากับกลอน Haiku และชื่อรุ่นนั้นๆ สถิตย์อยู่บนฝาขวด (ที่เป็นที่ใส่ขวด Travel พกพาได้อีกด้วย) และเมื่อได้มาเจอกับแบรนด์นี้ การเลือกกลิ่นแรกที่มาเล่าจึงตัดสินใจจากสิ่งที่คิดว่าน่าจะชอบไม่ว่าจะทั้ง Notes กลิ่นที่สร้างสรรค์ กลอน Haiku ที่เป็นองค์ประกอบ และชื่อกลิ่น เช่นนั้นจึงลงเอยที่กลิ่นนี้เลยที่ขอเลือกเป็นจุดตั้งต้นของการเล่ากลิ่นแบรนด์นี้ This July Evening

REMEMBERING (ในห้วงความทรงจำ)
THIS JULY EVENING (ย่ำค่ำเดือนกรกฎา)
BY THE SEA (ณ ริมฝั่งทะเล)
(หมายเหตุ: Haiku ภาษาไทยแปลและเกลาเอง By เข็มขัดสั้น)

Haiku ข้างต้นคือสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการต่อยอดทางกลิ่นที่ต้องบอกเลยว่า ไม่ได้มีกลิ่นทะเลใดๆ มาเกี่ยวข้อง แต่เป็นความรู้สึกของการมองท้องฟ้ายามเย็นริมทะเลเสียมาก ซึ่งลายภาพบนฝาขวดที่วาดออกมาเป็นท้องฟ้ายามอาทิตย์อัสดงที่ไล่เฉดสีและมีเหล่าก้อนเมฆประปรายนั่นแหละ ที่บอกถึงการไล่เรียงโทนกลิ่นได้ชัดเจนมากที่สุดเลย เพราะจุดเริ่มต้นของกลิ่น จะเริ่มที่กลิ่นโทน Citrus ที่ออกทางติดขมปร่าแกมเปรี้ยวอ่อนๆ ที่น่าจะมาจากมะกรูดฝรั่ง (Bergamot) แกมกลิ่นหวานคล้ายชะเอมกึ่งโป๊ยกั๊กจากเทียนสัตตบุตย์หรือ Anise ที่มาแบบตัวเสริมที่ดี สอดรับกับกลิ่นติดสมุนไพรติดเขียวปร่าอ่อนๆ ของคาโมมายล์ที่ค่อยเปิดตัวออกมาทีละนิดๆ ซึ่งในเนื้อกลิ่นมีความซับซ้อนอยู่พอสมควรเพราะมีโทนติดกึ่งผลไม้เบอร์กึ่งแอมโมเนียหน่อยๆ แลมีความชื้นๆ ติดเขียวฉ่ำอ่อนๆ แฝงอยู่ด้วย เลยทำให้กลิ่นมีความพุ่งในระดับหนึ่งแต่ไม่คมจัดเกินไป แต่สิ่งที่สำคัญมากคือ เนื้อกลิ่นมีวานิลลาเป็นพื้นกลิ่นชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นให้สัมผัาได้ด้วย โดยสามารถไล่เรียงกลิ่นจากปร่าขมแกมหวานไล่สีจากสีสว่างสู่สีเข้ม โดยมีความอบอุ่นจากแดดบ่ายที่ยังคงอบอวลเป็นกลิ่นหอมหวานนุ่มๆ ให้สัมผัสได้ตลอด ซึ่งช่วงนี้แหละบอกชัดเจนเลยถึงความเป็น This July Evening ตามลายภาพและ Haiku ได้ครบถ้วนตั้งแต่แรกสุดเลย

เมื่อความปร่าติดขมสดชื่นของ Citrus เริ่มเบาลงไปตามลำดับ และเปิดทางให้กลิ่นโทนดอกไม้ค่อยๆ เสริมเข้ามาเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าคาโมมายล์ยืนหนึ่ง ซึ่งจะให้กลิ่นที่มีความเป็นสมุนไพรแกมเขียวรื่นรมย์ผ่อนคลายได้ชัดเจน โดยจะมีกลิ่นของดอกไม้ต่างๆ เข้ามาผสมผสาน เริ่มที่มะลิที่จะให้ความหอมหวานนวลกึ่งตุ่ยๆ Indolic หน่อยๆ ความหวานกึ่งใสกึ่งแห้งแกมน้ำผึ้งติดเขียวที่มีลักษณะค่อนไปทางโทนแป้งของกระถินเทศ (Mimosa) และมีกลิ่นกุหลาบนวลๆ เนียนรวมอยู่ในเนื้อกลิ่น ซึ่งทั้งหมดจะมีตัวคุมโทนเป็นฉากหลังคือวานิลลาที่ให้ความอวลนวลอบอุ่นแกมโทนแป้งกำลังดีสร้างมิติกลิ่นที่ให้ลูกผสม 3 โทนแบบแป้งหอมอบอุ่นที่มีทั้งสายดอกไม้เด่นที่มะลิ สมุนไพรเด่นที่คาโมมายล์ เป็นตัวผสมผสานในเนื้อกลิ่น ซึ่งต้องบอกว่าช่วงนี้มีความ Feminine ในเนื้อกลิ่นพอสมควรเลยทีเดียว รวมถึงความรู้สึกของกลิ่นจะเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมเข้ามาสู่ตัวบุคคลที่นั่งมองท้องฟ้ามากขึ้นจากโทนแป้งดอกไม้

เมื่อโทนดอกไม้เริ่มจางและวานิลลาเริ่มกลายเป็นตัวหลัก แต่มีความหวานกึ่งไซรัปสมุนไพรแห้งๆ ออกทาง Smoky นิดๆ และมีโทนหญ้าแห้งหน่อยในการเป็นลักษณะเด่นของดอก Immortelle เข้ามาเสริมทัพกับคาโมมายล์ที่ยังมีอยู่จนถึงช่วงนี้ ก็จะเป็นการเข้าสู่ช่วงท้ายที่จะเป็น Herbal Vanilla ชัดเจน ซึ่งจะมีกลิ่นออกทางน้ำผึ้งเบาๆ กึ่งเกสรดอกไม้แห้งหน่อยๆ ทำให้เนื้อกลิ่นมีความหอมอวลนวลหวานแบบกำลังดี มีความกลางๆ ไม่แน่นไม่หนาจนเกินไป แบ่งเลเยอร์กลิ่นเป็นวานิลลาแกมแป้งที่มีความเป็นสมุนไพรผ่อนคลายจมูกคลอไปอยู่ตลอดเวลา เป็นการปิดท้ายกลิ่นที่ให้เสน่ห์ที่เรียบง่ายและจับต้องได้อีกด้วยว่าตั้งแต่ต้นยันปลายกลิ่นมีความดีงามในการเป็นโทนที่มีเสน่ห์แบบมินิมอลสไตล์ญี่ปุ่นแบบพอเหมาะในการเป็นยามเย็นริมทะลในเดือนกรกฎาคมอันสวยงามในช่วงท้ายที่ท้องฟ้ามืดแล้วกลิ่นบรรยากาศกับตัวบุคคลรวมเข้าด้วยกันเป็นกรุ่นจางๆ เคล้าสมุนไพรที่ลอยมายามค่ำ ตราไว้ในความทรงจำตามที่สื่อสารออกมาใน Haiku นั่นเอง

เหมาะสำหรับ - Unisex ที่ค่อนไปทางผู้หญิงมากกว่าหน่อยเพราะเนื้อกลิ่นช่วงกลางมีความเป็นโทนแป้งดอกไม้ แต่ถ้าผู้ชายไม่มายด์ ยังไงก็รอดและมีเสน่ห์ได้ไม่ยากอีกด้วย ซึ่งกลิ่นเข้ากับหลายๆ สถานการณ์ยามกลางวันไม่ว่าจะเป็นทางการหรือทั่วๆ ไป จะมีก็แต่การใส่ออกกำลังกายที่ไม่เข้าทางเท่าไหร่ ส่วนยามค่ำคืนเน้นใส่แบบสบายๆ หรือโรแมนติคจะดีที่สุด เพราะกลิ่นไม่ได้ทรงพลังพอที่จะเอาไปแข่งกับความแน่นอวลหวานของสายยั่วทั้งหลายแน่นอน

ความทน - อยู่ที่ 6 ชม. เป็นหลัก แต่ไปต่อได้อีกจนแตะ 8 - 10 ชม. ก็ยังได้ ซึ่งก็ว่ากันที่เคมีกับผิวและจำนวนสเปรย์ด้วยส่วนหนึ่ง โดยส่วนตัวเจอไปที่ 8 - 10 ชม. ราวๆ นี้ในการใช้งาน

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีในตอนต้น แล้วจะผ่อนลงมาปานกลางไปราวๆ 2 - 3 ชม. ถึงลงมาเป็นออร่ารอบๆ ตัว ก่อนที่จะค่อยๆ จางไปเรื่อยๆ เมื่อผ่าน 6 ชม. ตามสภาพผิวของแต่ละคน

สรุป - กลิ่นเอื้อกับลายภาพบนฝาขวดมาก และถอดเอาความเป็น Haiku ที่แต่งรอไว้ได้น่าสนใจในการให้อารมณ์ท้องฟ้าสีวานิลลาไล่เฉดไปยังสีม่วงแกมน้ำเงิน + ใส่เอาบรรยากาศอบอวลแกมสมุนไพรอ่อนๆ ที่มีความมินิมอลแกมแป้งหอมดอกไม้เข้าไป เลยทำให้ได้ความรื่นรมย์ที่น่าสนใจแบบไม่ฉูดฉาดก็จริง แต่แน่นอนว่าได้ความเป็นสไตล์ญี่ปุ่นในมุมมองของฝั่งตะวันตกได้อย่างน่าสนใจเลยทีเดียว

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล สามารถเป็นได้ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่เขียน เพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นได้ทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://www.floraiku.com/products/this-july-evening-eau-de-parfum

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น