วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

Review: Acqua di Parma - Blu Mediterraneo: Cipresso di Toscana

Acqua di Parma - Blu Mediterraneo: Cipresso di Toscana

จากที่ผ่านกลิ่นต่างๆ ของ Collection - Blu Mediterraneo ของแบรนด์  Acqua di Parma มีเสียดายอยู่หนึ่งกลิ่นที่วางจำหน่ายได้สักพัก ก็มีอันเป็นต้องจบการเดินทางเดินเข้าไปอยู่ในสายที่เลิกผลิต ซึ่งนั่นก็คือ Cipresso di Toscana ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในอายสาย Fresh Woody ที่มีเสน่ห์มากๆ ทั้งในการสร้างทั้งความสดชื่นและความนิ่งสุขุมที่สร้างออร่าความมีระดับในกลิ่นอายสายไม้สนต่างๆ ได้ยอดเยี่ยม ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายจริงๆ 

แต่พอในปี 2018 แบรนด์ได้เอากลับมาอีกครั้งเพื่อนำเสนอกลิ่นอายสไตล์ Fresh Woody ที่มีเสน่ห์ดังเดิม เพียงแต่ว่าเพราะกาลเวลาที่เปลี่ยนไปอาจจะต้องมีการปรับสูตรกันบ้าง แต่ยังไงก็ตามก็ยังมีแกนหลักที่ชัดเจนในการนำเสนอในการเป็นกลิ่นโทน Fresh Woody อยู่เช่นเดิม ดังนั้น มาว่ากันที่กลิ่นดีกว่าว่าจะสื่อสารออกมาอย่างไร ในการเป็น Re-Release ของรุ่นปี 2018 นี้

บอกก่อน - ส่วนตัวได้มีโอกาสลองรุ่นปี 1999 ที่ถือเป็นน้ำหอมกลิ่นแรกของ Collection นี้ ซึ่งมีความแตกต่างในเนื้อกลิ่นที่มีความชัดเจนในส่วนผสมต่างๆ และมีเสน่ห์มาก แต่เพราะว่าการนำออกมาจำหน่ายใหม่ มีการปรับเปลี่ยนตามข้อห้ามและวัตถุดิบที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และที่สำคัญหาไม่ได้แล้วในปัจจุบันนี้ การเล่ากลิ่นจึงจะเน้นที่รุ่น 2018 เป็นสำคัญ

Cipresso di Toscana เปิดต้นกลิ่นมาก็จะจับต้องได้ถึงแกนกลางของกลิ่นเลยนั่นคือกลิ่นสนไซเปรสกับกลิ่นสนไพน์ที่ตีคู่กับเข้าด้วยกัน ซึ่งจะเป็นแนวๆ ไม้แห้งเคล้ายางสนกับกลิ่นออกทางเขียวปร่าแกมหวานออกทางเย็นๆ ที่ให้ความรู้สึกแบบกลิ่นไม้สนสดชื่นให้รู้สึกได้ และจะมีอยู่ไปจนถึงช่วงท้ายของน้ำหอมเลย เพียงแต่สิ่งที่จะเด่นกว่าในช่วงต้นนี้จะเป็นกลิ่นโทน Citrus Herb เสียมากกว่า เพราะกลิ่นของเกรปฟรุตจะฟุ้งออกมาแต่มีโทนเขียวอย่างกิ่งก้านส้มมาเสริมและตัดทอนความเปรี้ยวแปร่งออกไปทำให้ได้กลิ่นโทนกึ่ง Citrus กึ่งเขียวที่ให้ความสว่างกำลังพอเหมาะ ตามด้วยกลิ่นสายสมุนไพรที่ก็ให้ความเขียวสอดรับพอดีอย่างโหระพาที่ให้ความเขียวปร่านวล เซจที่ให้เขียวกึ่งเผ็ด และโรสแมรี่ที่ให้เขียวตุ่นกึ่งมินต์ ที่รวมๆ กันออกมาแล้วกลายเป็นโทนสมุนไพรปร่าๆ แกมเขียวที่ให้ลูกเล่นสดชื่นเชื่อมกับกลิ่นสนที่เป็นพื้นหลังอยู่ ถือว่ามิติกลิ่นช่วงนี้มีความสดชื่นที่ให้อารมณ์สมุนไพรที่ปร่าและรื่นจมูกแบบสภาพแวดล้อมที่มีความสว่าง กลิ่นสมุนไพรและกลิ่นไม้หอมที่สมดุลย์รายล้อมรอบกาย

พอเข้าสู่ช่วงกลางสาย Citrus ต่างๆ ก็หายไปแล้ว คราวนี้จะกลายเป็น Herbal & Woody ที่มาแบ่งเค้กคนละครึ่งได้พอดี เพราะกลิ่นสนไพน์และไซเปรสต่างก็เด่นขึ้นมาโดยมีลูกกลิ่นออกทางยางสนติดชื้นๆ มีความสะอาดแกมไม้แห้งอยู่ แต่กลิ่นสมุนไพรจากช่วงต้นยังคงอยู่ เพียงแต่ลดความเขียวลงแต่ให้ความปร่าฟุ้งที่ชัดขึ้นเพราะว่ามีเม็ดผักชีเข้ามาเสริม และมีความเป็นปร่าเผ็ดหวานของกระวานที่เชื่อมโทนกับกลิ่นยางสนได้ด้วย แต่จะมีตัวแย่งซีนและเสริมมิติกลิ่นอย่างโทนดอกไม้ที่ให้โทนนวลสะอาดกึ่งรื่นรมย์ และถือเป็นอีกหนึ่งตัวเด่นที่มีบทบาทมาก นั่นคือ ลาเวนเดอร์ ที่มาแบบนวลๆ ให้ความสะอาดในเนื้อกลิ่นแกมโทนสมุนไพรหน่อยๆ และมีกลิ่นติดหวานระเรื่อมะลิปลายกลิ่นร่วมด้วย เลยทำให้มิติกลิ่นช่วงนี้ได้อารมณ์แบบกลิ่นไม้หอมสะอาดๆ ที่มีความนวลแกมสมุนไพรให้รู้สึกได้อยู่ตลอด โดยที่ยังมีความเป็นยางสนชะอุ่มๆ หน่อยๆ ให้รู้สึกได้ถึงความเป็นธรรมชาติร่วมด้วย

เมื่อเนื้อกลิ่นโทนสมุนไพรต่างๆ เริ่มลดทอนบทบาทลงตามลำดับ เนื้อกลิ่นจะเริ่มมีความแห้งมากขึ้นๆ ยิ่งเฉพาะในช่วงรอยต่อระหว่างช่วงกลางกับช่วงท้ายที่จะมีกลิ่นไม้ซีดาร์กับหญ้าแฝกที่มาโทนแห้งๆ มากขึ้นแต่ไม่ได้หนักหน่วง ทำให้บางวูบนึกถึงได้หมดทั้งกลิ่นไม้แห้งสว่างๆ หรือกลิ่นกระดาษแกมหนังสือเก่าๆ ก็ได้ ซึ่งแน่นอนว่ากลิ่นไม้สนทั้งไซเปรสซึ่งมีโทนแห้งในตัวก็ส่งเสริมได้ดี และกลิ่นสนไพน์ก็ให้ความปร่าแกมหวานสะอาดอยู่ และเมื่อเป็นช่วงท้ายเต็มตัวก็ชัดเจนเลยว่าไม้หอมทุกตัวที่มาผสมผสานกันในนี้ให้อารมณ์แบบหนังสือเก่าสะอาดๆ ที่มีความขลังก็ได้มีความรื่นรมย์ก็ดี และมีความขรึมๆ ที่ไม่ได้ดูจับต้องไม่ได้ เพราะมีโทน Earthy ติดหมึกหน่อยๆ ของ Oak Moss เข้ามาร่วมด้วย โดยปลายกลิ่นก็จะมีกลิ่นพิมเสนหวานระเรื่ออ่อนๆ อยู่ทำให้มีเสน่ห์ในเนื้อกลิ่นแบบที่ไม่ต้องประโคมมากแต่เอาอยู่ได้ดีด้วย ซึ่งทำให้ช่วงท้ายอารมณ์กลิ่นจะมีความสุขุมมากขึ้นแต่ก็ไม่ได้ลึกหรือดิ่งจนเกินไป เน้นความรื่นรมย์ที่เป็นโทนสว่างได้อย่างลงตัวกันยาวๆ ปิดท้ายอย่างสวยๆ เลย

เหมาะสำหรับ - Unisex แต่จะค่อนไปทางผู้ชายมากกว่าราว 80% ได้เลย เพราะความเป็นกลิ่นสนไซเปรสและสนไพน์ แถมมีซีดาร์กับหญ้าแฝกอีก แต่ถ้าไม่ได้มายด์ในเรื่องที่ต้องเป็นกลิ่นไม้หอมแบบนี้ผู้หญิงก็ใส่ได้สบายมากแต่จะออกแนวสร้างความสุขุมและสมาร์ทให้ตนเองเสียมากกว่า ซึ่งแน่นอนกลิ่นเข้ากับทุกสถานการณ์ยามกลางวัน ไม่ว่าจะทางการหรือทั่วไป ที่เน้นการสร้างออร่าแบบสดชื่นไปสู่สุขุม รวมถึงลามไปยังออกกำลังกายก็ยังได้ ส่วนยามค่ำคืนเน้นการใส่ออกงานจะลงตัวที่สุด เพราะกลิ่นไม่ได้มาสายปล่อยของจัดจ้านแบบสายหวานแน่นทั้งหลาย จึงแนะให้ข้ามการใส่ท่องราตรีออกไปน่าจะดีกว่า

ความทน - อยู่ที่ 8 ชม. เป็นสำคัญ แต่มีบวกลบราว 2 ชม. ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ สภาพผิวกาย และจำนวนสเปรย์ด้วยส่วนหนึ่ง ส่วนตัวเจอไปที่ 10 - 12 ชม. บ่อยครั้งกับการใช้ที่ 6 สเปรย์ รวมฉีดเสื้อที่สวมด้วย

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีในตอนต้น เรียกว่าให้ความสดชื่นในสายสมุนไพรแกมไม้หอมได้ดีจริงๆ ก่อนที่จะลดลงมาปานกลางไปราวๆ 2 - 3 ชม. แล้วจะคงตัวที่การเป็นออร่ารอบๆ ตัวยาวไป พอแตะที่ 6 ชม. ก็จะเริ่มติดผิว 

สรุป - ถือเป็นอีกหนึ่งกลิ่นโทนไม้สนต่างๆ ที่ให้ความสดชื่นได้เรียบหรู อารมณ์สว่างไล่เรียงสู่ความขรึมสุขุมได้อย่างมีชั้นเชิงและให้ัความเป็นธรรมชาติในเนื้อกลิ่นได้เหมาะสมและลงตัว ซึ่งถ้าพื้นฐานใครชอบกลิ่นแนวไม้สนบอกเลยว่าโดนตกได้สูงมากจริงๆ

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล สามารถเป็นได้ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่เขียน เพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นได้ทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://www.acquadiparma.com/en/it/cipresso-di-toscana/CIPRESSOEDTSPRAY.html

 

2 ความคิดเห็น:

  1. Facebook หายไปไหนหรอครับพี่

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. โดน Facebook ลบแบบไม่บอกเหตุผลที่ชัดเจนว่าลบด้วยสาเหตุอะไรน่ะครับ

      ลบ