วันเสาร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

Review: Shiro Fragrance - Earl Grey

Shiro Fragrance - Earl Grey

จุดเริ่มต้นของการเป็นชาเอิร์ลเกรย์ ก็มาจากชาดำจีนที่ผ่านกรรมวิธีผสมผสานชาดำกับน้ำมันมะกรูดฝรั่ง (Bergamot)  ที่เวลาดื่มนอกจากกลิ่นชาแล้วจะได้ความสดชื่นจากโทน Citrus ร่วมด้วย ซึ่งมาจากการนำไปต่อยอดของผู้ผลิตทางอังกฤษในช่วงปี 1830 แล้วต่อมากก็มีการผลิตขึ้นมาอย่างแพร่หลายโดย Twinings และก็กลายเป็นหนึ่งในการสร้างวัฒนธรรมการดื่มชาของอังกฤษในปัจจุบัน ซึ่งชาเอิร์ลเกรย์ ดื่มได้ตลอดทั้งวัน ยิ่งถ้าดื่มแบบร้อนยิ่งทำให้รับสุนทรียะในการสัมผัสกลิ่นและรสได้ครบถ้วนมาก 

แต่เพราะกลิ่นเฉพาะตัวที่เป็นการผสมผสานระหว่างความสดชื่นและความลุ่มลึกแกมหรูหราอารมณ์จิบชายามบ่ายที่เป็นที่นิยม เช่นนั้นเมื่อแบรนด์น้ำหอมจากฝั่งญี่ปุ่นอย่าง Shiro Fragrance ได้ดึงเอาอะโรม่าของความเป็นเอิร์ลเกรย์มาเป็นสไตล์ญี่ปุ่นที่ให้ความผ่อนคลายเข้ามา เช่นนั้น ได้เวลามาเรียนรู้กันหน่อยว่าจะตีความออกมาในลักษณะใด

Earl Grey เปิดต้นกลิ่นมาก็ชัดเจนมากมะกรูดฝรั่งหรือ Bergamot ที่จะค่อนข้างมีความเข้มชัดพอสมควร แต่ในเนื้อกลิ่นจะสัมผัสได้ว่ามีกลิ่นออกทางกึ่งกุหลาบกึ่งเขียวๆ ที่ไม่ใช่เป็นกลิ่นแบบน้ำในแจกันดอกกุหลาบจากเจอราเนียม แต่ให้ความเป็นลูกครึ่งกึ่งดอกกุหลาบกึ่งเขียวที่มีความเป็นฟรุตตี้ผลไม้หน่อยๆ เข้ามาร่วมด้วย ถ้าเดาไม่ผิดน่าจะเป็น Cassis เลยทำให้เนื้อกลิ่นมีความเป็นโทนแนว Citrus กึ่งเขียวกึ่ง Floral ที่เข้มอยู่พอประมาณ แต่ไม่นานก็มีตัวตัดทอนเข้ามากล่อมให้เนื้อกลิ่นมีความอะโรม่ามากขึ้น นั่นก็คือกลิ่นชาดำ 

และกลิ่นชาดำนี่แหละที่จะเป็นตัวดึงเข้าสู่ช่วงกลาง ที่จะเป็นการผสมผสานกลิ่นของชาดำกับ Bergamot ที่นี่แหละกลิ่นชาเอิร์ลเกรย์ แต่ไม่ใช่แค่นี้ เพราะเนื้อกลิ่นจะมีกลิ่นกุหลาบที่ชัดมากขึ้นจากช่วงต้น ทำให้กลายเป็นชาเอิร์ลเกรย์แกทกุหลาบขึ้นมาแทน เรียกว่าเนื้อกลิ่นไม่ได้ซับซ้อนแต่อย่างใด ให้อารมณ์ครบถ้วนทั้งในความเป็นชาดำที่ลุ่มลึกแกมดอกไม้ ความเปรี้ยวหอมแบบน้ำมัน Bergamot และกลิ่นกุหลาบที่ให้ความหวานแกมปร่านวลๆ โดยที่มีลูกเอื้อนฟรุตตี้หน่อยๆ แต่ไม่ได้ถึงขั้นเป็นแยมกุหลาบหรือกุหลาบแดงสไตล์ Classic ซึ่งถือว่าให้ความ Unisex และคุมความมินิมัลได้กำลังดีเลย

การปรับเปลี่ยนเข้าสู่ช่วงท้ายยังคงชัดเจนกับการเป็นโทนมินิมัล เพราะว่า เนื้อกลิ่นโทนกุหลาบจะบางลงไปพอสมควร เปิดทางให้ก Musk ที่มีความอบอุ่นเบาๆ ของแอมเบอร์เสริมเข้ามาจนกลายเป็นโทนกลิ่นแบบสะอาดนุ่ม เพียงแต่กลิ่นของการเป็นชาเอิร์ลเกรย์ที่มีความเป็นชาดำติดกลิ่นมะกรูดฝรั่งอ่อนบางจะยังคงอยู่ และผสมผสานรวมกับความเป็น Musk ทำให้ได้อารมณ์กลิ่นสะอาดนวลแบบผิวกายติดกลิ่นชาดำอ่อนๆ ถือเป็นการปิดท้ายกลิ่นที่ไม่ซับซ้อน ผ่อนคลาย และยังไงก็รอดสูงโดยไม่ต้องเยอะสิ่งได้พอเหมาะ

เหมาะสำหรับ - สำหรับบางคนอาจจะคิดว่ากลิ่นไพล่ไปทางผู้หญิงมากกว่าหน่อย เพราะกลิ่นกุหลาบ แต่ยังไงผู้ชายก็ใส่ได้สบายมาก เพราะเนื้อกลิ่นกลางๆ Unisex ชัดเจน ซึ่งเข้ากับหลายๆ สถานการณ์ยามกลางวันไม่ว่าจะเป็นทางการหรือทั่วๆ ไป รวมถึงใส่ออกกิจกรรมกลางแจ้งก็ได้ แต่ถ้าใส่ออกกำลังกายรอให้กลิ่นผ่านช่วงต้นไปก่อนน่าจะดีกว่า เพราะว่ากลิ่นค่อนข้างชัดและเข้มอยู่ระดับหนึ่งเลย ส่วนยามค่ำคืน เน้นทั่วๆ ไปก็พอ เพราะกลิ่นไม่ได้ไปสายปล่อยเสน่ห์เย้ายวนแต่อย่างใด

ความทน - อยู่ที่ 6 - 8 ชั่วโมงเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับสภาพผิวและจำนวนสเปรย์ด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวก็ 8 ชั่วโมงเป็นเรื่องปกติ แต่เน้นพกไปเติมระหว่างวันแทนถ้ากลิ่นจางลงไป  

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีมากในตอนต้น จนแอบแปลกใจ แต่ก็จะลดลงมาที่กระจายดีราวๆ ไม่เกิน 10 นาที ก่อนจะเป็นปานกลางไปต่อราวๆ 1 - 2 ชม. แล้วคงตัวที่ออร่ารอบๆ ตัวยาวไป ซึ่งก็ถือว่าเข้ากับการเป็นกลิ่นแบบสไตล์ญี่ปุ่นที่ไม่เน้นรบกวนคนอื่น ประมาณนั้น

สรุป - ชาเอิร์ลเกรย์กับกุหลาบ ที่คุม Concept ความสดชื่นสู่ความเรียบหรูเรื่อยๆ ไม่ซับซ้อน นี่แหละใช่เลย

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล สามารถเป็นได้ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่เขียน เพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นได้ทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://shiro-shiro.uk/products/earl-grey-eau-de-parfum-boxless

 

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566

Review: Chopard - Oud Malaki

Chopard - Oud Malaki

เมื่อการเจาะจงกลิ่นอายที่เน้น Notes กลิ่นเป็นตัวชูโรงในสไตล์ของ Niche กระจายมาสู่ Designer Brand ต่างๆ แน่นอนว่ามีทั้งการอัพเกรดให้เป็น High-End หรือ Exclusive Collection หรือยังคงการจับตลาด Mass Market เหมือนเดิม โดยเพิ่มเติมเป็น Collection แยกออกมาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น รวมถึงการเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่ให้ความเป็น Niche มาบรรจบกับการเป็น Designer Perfume ก็มีมากมายไม่ใช่น้อย ซึ่งกรณีสุดท้ายนั้น Malaki Collection ของ Chopard ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ซึ่งถ้าว่ากันตรงๆ ในการเป็น Malaki ก็คือการเจาะตลาดฝั่งตะวันออกกลางซึ่งก็จะมี Note + Malaki เกิดขึ้นมาทั้งหมด 5 กลิ่น ซึ่งแต่ละกลิ่นมีความเชื่อมโยงในการเอากลิ่นอายสไตล์อาระเบียนเข้ามาผสมผสานจนทำออกมากลายเป็นลูกครึ่งที่ให้ความรู้สึกได้ทั้งการเป็นกลิ่นอายแบบตะวันตกและตะวันออกกลางมาบรรจบกันได้พอดี เช่นนั้น ก็ได้โอกาสมาเจอกับกลิ่นที่ 2 ของไลน์นี้อย่าง Oud Malaki (เพราะกลิ่นแรกอย่าง Rose Malaki เคยผ่านการเล่ากลิ่นไปแล้ว) ก็ขอศึกษาเนื้อกลิ่นให้ตกผลึกอย่างเต็มที่ และสิ่งที่ได้ก็คือ

กลิ่นเปิดสัมผัสได้เลยถึงการเป็นโทนกลิ่นที่มีความเป็นยาสูบเคล้าเครื่องเทศ ที่มีลูกเอื้อนแบบกลิ่น Oud ที่ไม่ได้มาแบบนัวอัดจันจ้านแบบสายอาระเบียนจ๋า แต่จะมีอารมณ์แบบกลิ่น Oud แบบเนื้อไม้มากกว่าจะเป็นน้ำมัน Oud ซึ่งช่วงต้นแม้จะดูเปิดตัวกลิ่นหลักๆ มาจนเกือบหมด แต่จริงๆ มีความสดชื่นที่เปรี้ยวแกมแปร่งของเกรปฟรุตและกลิ่นฟุ้งเขียวขมๆ ที่ทำให้กลิ่นมีความพุ่ง รวมถึงมีโทนลาเวนเดอร์ที่ทำให้กลิ่นมีน้ำหนักขึ้นมาหน่อยในความการให้ลักษณะแบบดอกไม้อวลนวลเล็กๆ ทำให้ภาพรวมของช่วงนี้คือ ปล่อยความชัดเจนของกลิ่นที่มาหมดในการเป็นกลิ่นแบบยาสูบแกม Oud แบบเนื้อไม่ที่มีความเปรี้ยวแกมแปร่งสว่างและมีความนัวๆ ของกลิ่นเครื่องเทศเย้าๆ อารมณ์กลิ่นออกทางสีเหลืองทองสว่าง เป็นการเรียกแขกกันตั้งแต่เริ่มต้น

เมื่อเนื้อกลิ่นเริ่มลดความนัวฟุ้งลง ก็เริ่มเข้าสู่ช่วงกลางที่อารมณ์กลิ่นจะเป็นแนวยาสูบกึ่งลาเวนเดอร์อ่อนๆ เคล้าเนื้อไม้ Oud แล้ว เพียงแต่ความแปร่งเปรี้ยวชัดของเกรปฟรุตในช่วงต้นจะลดลงไปกลายเป็นตัวเสริมที่ดีทำให้กลิ่นมีโทนสว่างให้สัมผัสมากกว่าจะเข้าโทนนัว ที่สำคัญเครื่องเทศที่เสริมก็ลดระดับความจัดจ้านลงมาให้ความเย้าๆ มีเสน่ห์มีความหวานหน่อยๆ กำลังดี ซึ่งเดาว่าเม็ดกระวานและอบเชยน่าจะเป็นหนึ่งในนั้น รวมถึงเม็ดจันทน์เทศที่เกลาให้กลิ่นมีความกลมๆ สมดุลย์มากขึ้น ทำให้ช่วงกลางอารมณ์กลิ่นจะเป็นยาสูบกึ่งไม้หอมที่ให้ความเย้ายวนแบบมีเสน่ห์ และมีความลุ่มลึกในเนื้อกลิ่นได้อย่างลงตัว ซึ่งลดทอนความตูมตามช่วงแรกลงมาได้ดีมาก โดยกลิ่นจะให้โทนสีออกทางน้ำตาลกำลังดี 

เมื่อสัมผัสได้ถึงความอวลหวานอบอุ่นที่ค่อยๆ เสริมเข้ามาเรื่อยๆ และความเป็น Oud ในเนื้อกลิ่นเริ่มที่จะมีความอวลลึกมากขึ้น ผนวกกับกลิ่นโทนแอมเบอร์ที่ค่อยๆ เสริมเข้ามา เลยทำให้เนื้อกลิ่นหันเข้าทางโทนดาร์กมากขึ้น มีความเป็นสีน้ำตาลเข้มกึ่งดำ แต่ข้อดีคือ กลิ่นไม่หนักหรือดาร์กดำดิ่งเกินไป ให้อารมณ์กลิ่นเนื้อไม้แกมอวลสไตล์แบบ Oud หรือใกล้เคียงความเป็น Oud แบบไม่ได้เข้มข้นมาก + กลิ่นยาสูบที่ติดหวานหน่อยๆ มาเป็นตัวเสริม ทำให้กลิ่นยังคงเป็นยาสูบ & Oud เบาๆ ที่ให้ความเรียบหรูน่าค้นหามากขึ้น และที่สำคัญกลิ่นไม่ได้ออกแนวอาเระเบียนจ๋าๆ มากไป ให้อารมณ์ West meets Middle East แทน

เหมาะสำหรับ - ผู้ชายทุกเพศวัยเรียนมหาลัยขึ้นไป แบบที่ผ่านน้ำหอมกลิ่นแนวไม้หอมกึ่งเครื่องเทศ หรือยาสูบมาบ้าง จะเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งกลิ่นจะให้ความรู้สึกเรียบหรูน่าค้นหาเป็นแกนหลัก เลยเหมาะกับหลายๆ สถานการณ์ยามกลางวันที่จะทางการก็ได้ หรือจะทั่วไปก็สามารถ โดยที่กลิ่นเสริมบุคลิกแบบสมาร์ท มีเสน่ห์และน่าค้นหา แต่ถ้าใส่ออกกิจกรรมกลางแจ้งหรือว่าออกกำลังกาย ไม่ค่อย Match กันเท่าไหร่ ส่วนยามค่ำคืนแน้นใส่ออกงานหรือว่าจิบหรูๆ จะดีที่สุด

ความทน - ลงตัวที่ราวๆ 8 ชม. เป็นพื้นฐาน ซึ่งสามารถไปต่อได้ว่ากันที่จำนวนสเปรย์และสภาพผิวผู้ใช้ด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวใช้ไป 6 สเปรย์ลากยาวไป 15 ชม. เสมอ

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีมากในตอนต้น ซึ่งช่วงนี้จะมาเต็มนิดนึงอาจจะทำให้มึนๆ เอาได้ แต่พอผ่านไปซัก 5 นาทีก็ลดลงมาที่กระจายดีไปราวๆ 30 นาที ถึงลงมาปานกลางกันไปเรื่อยๆ พอเข้าชั่วโมงที่ 5 ก็จะลงมาเป็นออร่ารอบๆ ตัวยาวๆ ไป แล้วเป็น Skin Scent ชัดเจนเมื่อผ่านไปแล้ว 8 - 10 ชม. 

สรุป - กลิ่นอาจจะไม่ได้มาสาย Oud ชัดเจน และออกจะเป็น Oud ที่เบากว่าชาวบ้านเขา โดยตัวเด่นจริงๆ เป็นยาสูบเสียมากกว่า ซึ่งก็ไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความเป็น Oud ให้ดูอาระเบียนอะไรชนาดนั้น แต่ให้ความน่าค้นหาและมีเสน่ห์ที่แตกต่างเสียมากกว่า และที่สำคัญคุณภาพกลิ่นถือว่าไม่ธรรมดา เพราะเนื้อกลิ่นมีความ Niche Perfume หรือ High-End Perfume ที่มาอยู่ในกลุ่ม Mass Market ที่ทำให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งกลิ่นที่ Chopard ทำออกมาได้ลงตัว

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล สามารถเป็นได้ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่เขียน เพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นได้ทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://www.chopard.com/en-gb/perfume-for-men/95201-0362.html