วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

Review: Guerlain - Samsara Eau de Parfum (Vintage)

Guerlain - Samsara Eau de Parfum (Vintage)

ถ้ามองกลุ่มกลิ่นอายสาย Classic ของ Guerlain ไม่ว่าจะ Collection ไหน ต่างก็เป็นหนึ่งในตำนานกันแทบจะทั้งหมด ทุกตัวเรียกว่าครองใจคนใช้น้ำหอมมาอย่างยาวนานจนปัจจุบัน แม้ว่าโทนกลิ่นจะไม่ใช่เทรนด์หลักไปแล้ว แต่ความดีงามยังอยู่มาเสมอและไม่ว่าใครในแวดวงน้ำหอมถ้ามีโอกาสควรจะได้ลองเพื่อเห็นความงามทางกลิ่นที่ Guerlain ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ซึ่งหนึ่งในใต้หล้าที่จะมาว่ากันในคราวนี้ นั้นก็คือขวดแดงแรงฤทธิ์ที่สร้างออร่าผู้หญิงที่มั่นใจและมีเสน่ห์เย้ายวนที่เหนือกาลเวลาอย่าง Samsara

ซึ่งแม้ว่า Samsara เองจะไม่ได้มีการแตกหน่อออกผลเยอะถ้าเทียบกับสายอื่นๆ ของแบรนด์ แต่ก็ถือว่ามีครบถ้วนทั้งการเป็น EDP, EDT และ Extrait ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1989 รวมถึงรุ่นแตกแขนงออกไปอีก 2 รุ่นที่ตามมาหลังๆ ห่างมากๆ แน่นอนว่าการจะคงสูตรตามเดิมมันทำได้ยาก เพราะข้อห้ามต่างๆ ก็มีมากขึ้น ปัจุบันมันเลยมีการปรับสูตรไปเป็นที่เรียบร้อย เช่นนั้นถ้าต้องการจะซึมซับความงามทางกลิ่นในอดีต เราก็ต้องมาที่รุ่น Vintage นี่แหละที่จะบอกได้ว่าหนึ่งในความงามทางกลิ่นของแบรนด์นี้ที่เคยสร้างความประทับใจจนถึงทุกวันนี้จะเป็นอย่างไร เช่นนั้น ก็มาว่ากันที่ Samsara EDP รุ่น Vintage ซักหน่อยแล้วกัน

อย่างแรกที่เป็นกลิ่นเปิด ต้องยอมรับเลยว่าความเป็นกระดังงาจะชัดเจนมาก และมีกลิ่นดอกไม้ขาวที่ให้โทนตุ่ยๆ Indolic แบบกำลังดี ไม่ได้ตุ่ยเกินไปกว่าเหตุมาดึงดูดความสนใจกันตั้งแต่แรก ซึ่งในเนื้อกลิ่นจะมีลักษณะโทนติดหวานแห้งหอมของพีชเสริมอยู่เลยได้ความเป็นดอกไม้ที่มีความหอมของผลไม้หวานเจืออยู่ด้วย แต่ไม่ได้มาแบบใสๆ เพราะเนื้อกลิ่นแม้ว่าจะมีโทนสดชื่นของ Citrus ติดขมปนเขียวสดชื่นบางๆ ที่น่าจะเป็นกลิ่นมะกรูดฝรั่ง (Bergamot) มาแบบประปราย ซึ่งอาจจะเพราะเป็น Vintage แล้วกลิ่นโซน Citrus เลยจะจมลงไปตามกาลเวลา แต่ยังพอมีอยู่ให้จับต้องได้ แต่เพราะพื้นกลิ่นค่อนข้างชัดเจนมากว่ามีโทนแป้งรองพื้นอยู่ เลยจะเป็นโทนที่มีความหนาในเนื้อกลิ่นพอประมาณ สร้างความเย้ายวนอวลมีเสน่ห์ เพิ่มเติมด้วยกลิ่นที่มีความ Feminine แบบมั่นใจ ไม่ได้เป็น Classic จ๋าๆ ฟุ้งๆ แต่มีความทันสมัยและร่วมสมัยได้อย่างชัดเจนตั้งแต่แรกเริ่มเลยทีเดียว

เมื่อเข้าสู่รอยต่อของกลิ่นที่โทนแป้งจะเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้นตามลำดับจนกลายเป็นเมนหลักในการเดินกลิ่นกันยาวๆ หลังจากนี้ไปจนถึงช่วงท้ายเลย ซึ่งในช่วงกลางจะเป็นการรวมเอาความเป็นดอกไม้ขาวของมะลิที่มีความตุ่ยๆ Indolic หน่อยๆ กับกระดังงาที่ให้ความอวลเย้ามาผสมผสานกับกลิ่นโทนแป้งที่จะมีมิติกลิ่น 3 มิติ คือ กลิ่นแป้งโปร่งหวานของไวโอเล็ต เคล้ามิติของกลิ่นแป้งติดอับบางๆ ของไอริส ที่มีความนวลข้นทึบของหัวเหง้าออริสรองพื้นที่ให้โทนกึ่งแป้งข้นเจือ Earthy หน่อยๆ ซึ่งจะรวมตัวกันสร้างมิติกลิ่นที่ให้ความเป็นแป้งหอมดอกไม้ที่มีทั้งความหวานเย้าของกระดังงา หวานนวลชองมะลิ หวานเจือเขียวโปร่งของไวโอเล็ตเอง หวานอ่อนๆ เจือเขียวกึ่งหญ้าแห้งหน่อยๆ ของดอกดารารัตน์ และหวานโรแมนติคนวลของกุหลาบ เลยทำให้ช่วงนี้จะมีความเป็นโทนแป้งหอมดอกไม้ที่ชัดเจน เพียงแต่จะไม่ใช่แค่แป้งหอมดอกไม้ทั่วไป เพราะเนื้อกลิ่นมีโทนไม้หอมที่ค่อยๆ เนียนแทรกขึ้นมา พร้อมกับวานิลลาเลยทำให้ได้อารมณ์แป้งหอมอบอุ่นเจือดอกไม้และมีความนวลครีมมี่ติดไม้หอม ที่มีลูกผสมของความอ่อนโยนก็ได้ ความโรแมนติคก็ดี ความเย้ายวนเซ็กซี่ก็มีให้จับต้อง และความอวลอุ่นกรุ่นกำลังดีมีระดับก็ชัด ได้ความเป็นโทนแป้งสไตล์ผู้หญิงที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ก่อนจะเริ่มลดทอนความเป็นแป้งอวลลงไปเรื่อยๆ ส่งต่อให้ช่วงท้ายที่ความเป็นโทนแป้งหอมจะผ่อนลงมาพอสมควรเหลือเพียงโทนแป้งออกทางเบาๆ และมีความสว่างในเนื้อกลิ่นที่มาสายนวลมากขึ้นเพราะไม้หอมที่เข้ามาเนียนแทรกในช่วงกลางเริ่มชัดเจนมากขึ้นถึงการเป็นไม้จันทน์หอมที่มีความนวลจิดหอมกำลังดี สอดรับกับวานิลลาที่มีความครีมมี่นุ่มหอมให้ความเป็นแป้งนวลหอมหวานอ่อนๆ เข้ามาเสริมที่เป็นดั่ง Signature โทนวานิลลาสไตล์นี้ของแบรนด์ ทำให้ความเป็นโทนแป้งยังมีความชัดเจน แถมยังมีโทน Musk ปนกับแอมเบอร์ที่เสริมให้ความอบอุ่นปนนวลได้ลงตัวเข้าไปอีก เลยได้ความรู้สึกว่ามีความเป็นโทน Unisex ขึ้นมาพอสมควรเลย ซึ่งทำให้เนื้อกลิ่นไม่ได้ไปสายอบอุ่นอ่อนโยนอ่อนหวานอะไรนัก แต่ได้ความมั่นใจขึ้นมาแทนเสียมากกว่าแบบขยับจากผู้หญิงสู่ Unisex ที่มีความทันสมัยมากขึ้น ไม่ได้ Classic จัดจ้านแบบสไตล์น้ำหอมกรุยกรายย้อนยุคแต่อย่างใด ซึ่งถ้าย้อนกับไปมองปีที่วางจำหน่ายน้ำหอมรุ่นนี้อย่างปี 1989 บอกเลยว่ากลิ่นนี้ล้ำสมัยและได้ความเป็นผู้หญิงในสไตล์มั่นใจแต่ยังคง Sex Appeal ของตัวเองได้ดี ซึ่งก็เป็นไฮไลท์ที่ตอบได้อย่างชัดเจนจริงๆ ว่าทำไมกลิ่นนี้มีความ Timeless เหนือกาลเวลาจนถึงทุกวันนี้

เหมาะสำหรับ - ผู้หญิงทุกเพศวัยทำงานขึ้นไป เข้ากับยุคและมีความทันสมัยที่รู้จักเสน่ห์ของตัวเอง ซึ่งกลิ่นเข้าได้กับหลายๆ สถานการณ์ยามกลางวัน ไม่ว่าจะทางการหรือทั่วๆ ไป แต่ให้ตัดการใส่เพื่อกิจกรรมกลางแจ้งลุยๆ หรือว่าออกกำลังกายไปได้เลย ไม่เข้าทาง ส่วนยามค่ำคืนรุ่นนี้เป็น EDP ที่มีพลังพอสมควร เอาจริงๆ ใส่ท่องราตรีได้ไหม ก็ใส่ได้ เพียงแต่ถ้าเจอกับน้ำหอมยุคนี้ที่อัดความแน่นอวลหวานปล่อยเสน่ห์กันแบบไม่ลดราวาศอก เอาตัวนี้ไว้ใส่ออกงานหรือยามโรแมนติคแทนดีกว่า ส่งเสริมให้มีออร่าทางกลิ่นที่มีระดับและมีคลาสมากกว่าเยอะ

ความทน - ลงตัวที่ราวๆ 8 ชม. เป็นสำคัญ และไปต่อได้อีกถึง 12 ชม. ได้เลย

การกระจาย - กลิ่นกระจายดีในตอนต้น เรียกว่าอาจจะอึนๆ กันหน่อย เพราะเนื้อกลิ่นมีโทนแนว Indolic เจือให้รู้สึกแบบน้ำหอมสาย Floral Classic อยู่บ้าง แต่พอเข้าช่วงกลางมันคือความงดงามของโทนแป้งทางกลิ่นที่กระจายปานกลางอย่างมีเสน่ห์ แล้วจะค่อยๆ ผ่อนลงมาที่ออร่ารอบๆ ตัวตอนเข้าช่วงท้าย พอพ้นไปซัก 8 ชม. ก็จะเริ่มติดผิวตามลำดับ

สรุป - รุ่น EDP Vintage ขวดใส ขวดนี้บอกเลยว่าไม่ธรรมดาและมีความดีงามในการบอกเล่ากลิ่นในอดีตที่ผู้ปรุงมีความล้ำสมัยมาก สามารถสื่อสารการเดินทางของกลิ่นที่จับเอาความเป็นสไตล์โทนแบบ Classic เดินมาสู่ความ Modern แบบที่ไม่มีคำว่าตกยุคได้เลย ไม่แปลกใจที่ไลน์นี้ถือเป็นหนึ่งในน้ำหอมในตำนานของ Guerlain อีกหนึ่งไลน์ที่ไม่ควรมองข้ามไปจริงๆ ส่วนในอนาคตถ้าได้มีโอกาสลองรุ่น EDP แบบขวดแดง (ที่ไม่ใช่ EDP ปัจจุบันที่เป็นขวด Bee Bottle) และรุ่น EDT ค่อยมาดูกันว่าจะเปลี่ยนไปหรือว่าตีความทางกลิ่นแบบไหนอีกที 

หมายเหตุ:

1. บทความนี้มาจากประสบการณ์ใช้ส่วนบุคคล ถ้าใช้แล้วไม่เหมือนกับที่ผมเขียนเพราะน้ำหอมเวลาอยู่บนผิวแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันไปได้ ซึ่งมันเป็นทั้งเสน่ห์เฉพาะและเป็นข้อเสียสำหรับคนที่ไม่ชอบในเวลาเดียวกัน

2. บทความนี้เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่กฎหมายรับรอง ห้าม!!! ผู้ใดจะเอาไปใช้อ้างอิงทางการพาณิชย์  ยกเว้นแบรนด์ สุคนธกร และเจ้าของแบรนด์ในการสร้างสรรค์กลิ่นนี้ที่จะสามารถนำไปใช้ได้ ในกรณีถ้าเจอว่ามีบุคคลนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต ก็ต้องว่าตามบริบทของกฎหมาย รวมถึงกรณีเมื่อมีร้านไหนนำไปใช้ตามการอนุญาตแล้ว ก็ขอแจ้งว่า ”เข็มขัดสั้นไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับร้านน้ำหอม/ผู้จำหน่ายคนนั้นๆ”

Photo Credit - https://www.pinterest.com/pin/388787380309874451/

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น